วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประเพณี

 
 


         
          ชาวบ้านจาก 15 หมู่บ้าน ที่อาศัยอยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดสุรินทร์ ร่วมสืบสานประเพณี “ ทำบุญร่วมมิตร จัดอาหารพร้อมสิ่งของถวายวัดตามแนวชายแดน
ชาวบ้านจาก 15 หมู่บ้านของตำบลตรวจ ร่วมประเพณี “ ทำบุญร่วมมิตร” ที่ วัดป่าบ้านตาแดก หมู่ที่ 6 บ้านตาแดก ตำบลตรวจ อำเภอศรีณรงค์จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันจัดขึ้น สำหรับประเพณี “ทำบุญร่วมมิตร” เป็นกิจกรรมสำคัญก่อนวันออกพรรษาของชาวบ้านเขตอำเภอศรีณรงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยชาวบ้านจะนำข้ามปลาอาหารหวาน-อาหารคาว จตุปัจจัยไทยธรรม ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ตามวัดภายในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นเหล่าพุทธศาสนิกชน จะร่วมจัดการแข่งขัน การขับร้องทำนองสรภัญญะ ที่เล่าขานตำนานพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ขับร้องอย่างไพเราะ และพร้อมเพรียงกัน สำหรับ ประเพณี “ ทำบุญร่วมมิตร ”นี้ นอกจากจะเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่แล้ว ยังจะก่อให้เกิดความรัก-ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทางหนึ่งด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

 
 
              จากการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผลของการวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาว่า ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความไม่รู้กฎหมายของผู้ประสบปัญหาและครอบครัว ความไม่รู้กฎหมายนี้เองที่เป็นตัวสร้างปัญหา และในหลายต่อหลายครั้งก็เป็นตัวที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ สิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุด คือ การสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ บุคคลที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่กลุ่มคนอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผู้สร้างปัญหานั้นเสียเองอย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติได้ดีที่สุด ก็คือ บุคคลที่ตกอยู่ในสภาพการณ์นั้น อันได้แก่ เจ้าของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นผู้ที่เข้าใจถึงปัญหาของตนเองได้ดีที่สุด
            นอกจากนี้แล้ว พวกเขาย่อมจะเป็นผู้ที่มีความสนใจ กระตือรือร้น ในการแก้ไขหรือเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่เนื่องจากความไม่รู้กฎหมายและไม่รู้จักวิธีการใช้กฎหมายเพื่อการรักษาโรคของความไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้ อุปสรรคต่างๆ จึงตามมา และปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงประเด็นนอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาโครงการ” หรือ “ครูอาสา” ในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเจ้าของปัญหาและครอบครัว ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหลายๆ ภาคส่วนในสังคมไทย เป็นกลุ่มคนที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
              ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง "จำลองห้องเรียนกฎหมาย" ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง คือ กรุงเทพฯ และในพื้นที่อื่นๆ ที่ปรากฏคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นลักษณะของห้องเรียนกฎหมายเคลื่อนที่ เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายให้แก่ชาวบ้านที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานั้นๆ
               นอกจากองค์ความรู้ที่จะได้รับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ห้องเรียนกฎหมายจะปลูกฝังให้แก่นักเรียนทุกคน โดยเฉพาะเจ้าของปัญหา คือ ความกล้าหาญ ที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ตน ครอบครัว และชุมชนควรจะได้รับตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อเจ้าของปัญหาทุกคนมีความรู้รวมกับความกล้าหาญที่จะนำความรู้นั้นไปใช้แก้ไขปัญหาแล้ว ในที่สุดแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็คือ ความมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในทุกจุดเล็กๆ ของสังคมไทยด้วยตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเอง
 

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิถีชีวิตของชาวบ้าน


        ผืนนาพื้นที่ 130 ไร่ ที่หมู่ 4 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ถือว่าเป็นที่นาผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ตที่ยังคงมีการทำนากันอยู่ ภาพชาวนาตีข้าวและสีข้าวคงเป็นภาพที่ไม่คุ้นตาชาวภูเก็ตมากนัก วิถีชีวิตการทำนาของชาวบ้านที่นี้ยังดำเนินตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบคนไทย เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต

        เดิมนั้นในจังหวัดภูเก็ตมีที่นา ที่สามารถที่จะผลิตข้าวเลี้ยงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อหมดแร่ดีบุก และเข้าสู่ยุคของการท่องเที่ยวทำให้ที่นาที่กระจายอยู่ทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.ถลาง อ.กะทู้ อ.เมือง ในจังหวัดภูเก็ต ที่นาเหล่านี้ได้ถูกขายให้แก่ผู้ประกอบการสร้างเป็นรีสอร์ท โรงแรม เพื่อรองรับการการท่องเที่ยวและเป็นที่พักของนักท่องเที่ยวและเป็นหมู่บ้าน จัดสรรทำให้ที่นาในจังหวัดภูเก็ตค่อยๆหายไป จนเหลือพื้นนาที่สามารถปลูกข้าวได้เพียงแห่งเดียวคือที่บ้านไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

        ในสมัยท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายปรีชา เรืองจันทร์ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทำการอนุรักษ์ผืนนานี้ไว้ และสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตการทำนาข้าวที่ภูเก็ตแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการไถนา หว่านเมล็ดข้าวเก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนของการสีข้าว ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันในการทำนา ซึ่งเป็นการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว โดยมีพื้นที่ประมาณ 130 กว่าไร่ โดยจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตร ซึ่งมีทั้งการทำนา และโรงสีข้าว

        ด้วยแนวคิดที่จะปรับปรุงฟื้นฟูการทำนาข้าวในพื้นที่ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง ซึ่งเป็นแหล่งสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยนักท่องเที่ยวสามารถมาดูขบวนการทำนาข้าวที่ภูเก็ตแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการไถนา หว่านเมล็ดข้าวเก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนของการสีข้าว ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว










         วิถีชีวิตแบบพอเพียงที่หลายคนต่างก็เคยได้ยินได้ฟัง แต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจและนำไปปรับใช้ในชีวิต ความพอเพียงไม่ใช่แค่การปลูกผักทำนาทำเกษตรกรรมเลี้ยงตนเองเท่านั้น แต่ใจความสำคัญของวิถีชีวิตพอเพียงนั้นคือการประเมินตน มีเหตุผล ไม่ประมาท ดำรงตนอยู่ในความพอดี มีชีวิตที่สมดุลและพึ่งตนเอง
ผู้คนต่างเสียเวลาไปกับการดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้ตัวเองมีทัดเทียมกับคนอื่น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางวัตถุสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนในสังคมไทยไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่เคยมีชีวิตเรียบง่าย ให้ความสำคัญกับจิตใจมากกว่าวัตถุ ยึดถือในเรื่องคุณธรรมความดีงามมากกว่าเงินทองทรัพย์สมบัติ